การรายงานสัญญาณด้วยระบบ RST สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
การรายงานสัญญาณสำหรับนักวิทยุสมัครเล่น เป็นการตรวจสอบสภาพสัญญาณขณะทำการติดต่อสื่อสารว่าชัดเจนเพียงใด พร้อมที่จะติดต่อกันได้หรือไม่ รับส่งได้เท่าเดิมเหมือนที่เคยทดสอบหรือไม่ ถ้าเกิดผิดปกติเราก็จะได้แก้ไขปรับปรุงสถานีได้ทัน
การรายงานสัญญาณด้วยระบบ RST คือ การรายงานคุณภาพและความแรงของสัญญาณ เป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไปในกิจการวิทยุสมัครเล่น
ระบบ RST ประกอบด้วย
R (Readability) ความชัดเจนในการรับฟังข้อความ มี 5 ระดับ
- ระดับ 1 คือ ไม่ได้เลย
- ระดับ 2 คือ ไม่ค่อยดี รับข้อความแทบไม่ได้
- ระดับ 3 คือ พอใช้ รับข้อความได้ด้วยความลำบากมาก
- ระดับ 4 คือ ดี รับข้อความได้สบาย
- ระดับ 5 คือ ดีเยี่ยม รับข้อความได้สมบูรณ์ยิ่ง
S (Signal Strength) ความแรงของสัญญาณ มี 9 ระดับ
- 1 คือ อ่อนมากจนรับแทบไม่ได้
- 2 คือ อ่อนมาก
- 3 คือ อ่อน
- 4 คือ พอใช้ได้
- 5 คือ ดีพอใช้
- 6 คือ ดี
- 7 คือ แรงปานกลาง
- 8 คือ แรงดี
- 9 คือ แรงดีมาก
T (Tone) ความแจ่มใสของเสียงสัญญาณวิทยุโทรเลข มี 9 ระดับ
- 1 คือ เสียงพร่ามากมีคลื่นความถี่ต่ำผสมมาด้วย
- 2 คือ เสียงพร่ามาก
- 3 คือ เสียงพร่าเหมือนใช้แรงดันไฟที่ไม่มีการกรองให้เรียบเลย
- 4 คือ เสียงพร่าและยังกระเพื่อมอยู่
- 5 คือ เสียงยังกระเพื่อมอยู่มาก
- 6 คือ เสียงยังกระเพื่อมอยู่อีกเล็กน้อย
- 7 คือ เกือบดียังกระเพื่อมอยู่บ้าง
- 8 คือ เกือบดีแล้ว
- 9 คือ ดีมากไม่มีตำหนิ
แต่ เนื่องจากว่าในการติดต่อระบบวิทยุโทรทัศน์ ไม่มีสัญญาณวิทยุโทรเลขหรือสัญญาณมอร์ส จึงได้ตัดตัว T ไป และรายงานเพียงระบบ RS เท่านั้น ส่วนค่า S ก้นิยมดูจากค่า S-Meter ของเครื่องวิทยุเลยซึ่งจะมีสเกลจาก 1-9 บอกไว้ ส่วนที่เกินจาก 9 จะเป็นค่า dB เช่น +10 dB, +20 dB เป็นต้น
ตัวอย่างการรายงานสัญญาณในระบบ RS
- รายงานได้ 59 หมายความว่า รับฟังข้อความได้ดีเยี่ยม และ มีความแรงสัญญาณดีมาก
- รายงานได้ 35 หมายความว่า รับฟังข้อความได้ด้วยความลำบากมาก และ มีความแรงสัญญาณดีพอใช้
- รายงานได้ 59+20 dB หมายความว่า รับฟังข้อความได้ดีเยี่ยม และ มีความแรงสัญญาณดีมาก และตำแหน่งของ S-Meter เกิน 9 ไปที่ 20 dB
สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นในประเทศไทยปัจจุบันบางคนยังใช้การรายงานสัญญาณแบบผิดๆ อยู่ โดยไปยึดติดมาจากวิทยุของราชการหรือกู้ภัยซึ่งกลุ่มนั้นจะนิยม รายงานค่า S เป็นคุณภาพของเสียงที่รับฟัง อย่างเช่นมีเสียงซ่าปนมาหน่อยเขาก็ให้เป็นระดับ 4 ซะแล้ว แต่จริงๆ แล้วฟังข้อความได้ครบถ้วนชัดเจน
ในการรายงานตามหลัก R ที่ถูกต้องนั้นควรจะดูที่ คุณภาพของข้อความว่าครบถ้วนหรือไม่ถึงจะถูกต้องนะครับ ส่วนค่า S ก็ดูที่ S-Meter ได้เหมือนเดิมครับผม โดยอาจจะรายงานเป็น QRK ผสมไปกับค่า R ด้วยก็ได้ครับเช่น QRK 5 S 9 เป็นต้น
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนสมาชิกบ้างนะครับขอบคุณครับ